
ข้าวไทยกับญี่ปุ่นมีความแตกต่างกันอย่างไร
วัฒนธรรมในการกินข้าวนั้นนอกจากในประเทศไทยบ้านเราแล้วยังมีอีกหลายประเทศด้วยกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่คนไทยเรานั้นต่างให้ความยอมรับถึงความอร่อยและหอมนุ่มของข้าว ทานแล้วอยู่ท้อง เป็นที่นิยมในประเทศไทยเรา ไม่ว่าจะเป็นเมนู ซูชิ หรือ ดงบุริ (ข้าวหน้าต่างๆ) แม้กระทั่งอาหารญี่ปุ่นจัดเซ็ท ที่มาพร้อมกับข้าวก็เป็นที่นิยมมากเช่นเดียวกัน หลายคนสงสัยไหมว่านอกจากความแตกต่างของประเทศที่ใช้ในการเพาะปลูกข้าวแล้ว ข้าวไทยกับข้าวญี่ปุ่นนั้นมีความแตกต่างกันในเรื่องใดบ้าง
ต้องบอกก่อนว่าทั้งประเทศไทยบ้านเราและประเทศญี่ปุ่นนั้น ต่างก็นิยมบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก แต่ในตอนนี้ทั้งประเทศไทยและญี่ปุ่นนั้นต่างกำลังเผชิญกับปัญหาที่ผู้คนต่างนิยมบริโภคข้าวน้อยลง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่นั้นอาจจะเป็นเพราะไลฟ์สไตล์และการใช้ชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันนั้นค่อนข้างเร่งรีบจึงทำให้ไม่เอื้ออำนวยต่อการกินข้าวเป็นมื้อนัก
ฤดูกาลและการผลิต
สำหรับทั้งสองประเทศแล้วมีฤดูกาลปลูกข้าวที่ใกล้เคียงกัน เรามาดูกันดีกว่าว่าใกล้เคียงกันอย่างไร
ประเทศไทย จะมีฤดูกาลทำข้าวปกติ เรียกกันว่า การทำนาปี และ การทำนานอกฤดูกาลนั้น จะถูกเรียกว่า การทำนาปรัง โดยปกติการทำนาปีของคนไทยนั้นจะเริ่มเตรียมดินกันในช่วงเดือนเมษายนและมีการหว่านเมล็ดข้าวในช่วงเดือนพฤษภาคม และจะสามารถทำการเก็บเกี่ยวได้ในช่วง เดือน กุมภาพันธ์ ของปีถัดไป
ข้าวที่คนไทยนิยมรับประทานมากที่สุด – ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ปลูกที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด และ ข้าวหอมมะลิ 105 ปลูกที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
ประเทศญี่ปุ่น จะเริ่มมีการทำนาในช่วง เดือนเมษายน และมีการเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม ปีดีกัน สำหรับช่วงปีใหม่หรือปลายปีของญี่ปุ่นที่เป็นฤดูหนาวนั้นจะเป็นช่วงเวลาของการหมักบ่มสาเกจากข้าวที่ทำการเก็บเกี่ยวมา
ข้าวที่คนญี่ปุ่นนิยมรับประทานมากที่สุด – ข้าวโคชิฮิคาริ ปลูกที่จังหวัดนีงาตะ และ ข้าวอาคิตะโคมาจิ ปลูกที่จังหวัดอาคิตะ
ความอร่อยที่แตกต่าง รูปร่าง ลักษณะ และ แคลอรี
สำหรับข้าวไทยและข้าวญี่ปุ่น สิ่งที่ทุกคนจะสังเกตเห็นได้อย่างง่ายได้นั้นก็คือลักษณะและความเหนียวแน่นของมัน เราลองมาดูกันดีกว่าว่าแต่ละประเภทนั้นแตกต่างกันยังไงบ้าง
ข้าวไทย เป็นสายพันธุ์อินดิกา ที่นิยมปลูกกันทั่วไปในเอเชีย เมล็ดข้าวนั้นจะมีลักษณะที่เรียวและยาว แห้งร่วนกว่าข้าวญี่ปุ่น 100 กรัม ของข้าวไทยนั้น มี 369 แคลอรี่ 50 ดัชนีน้ำตาล ลักษณะของข้าวในการใช้ประกอบอาหาร เนื้อข้าวร่วนนุ่ม ข้าวสวยมีความอุ้มน้ำน้อย รสชาติจืดกว่าของญี่ปุ่น ผัดข้าวได้แห้งและร่วนกว่า
ข้าวญี่ปุ่น เป็นสายพันธุ์จาโปนิกา ปลูกได้ในภาคเหนือของไทย รวมถึงเอเชียตะวันออก เกาหลีใต้ จีน รวมถึง อเมริกาและออสเตรเลีย สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนของข้าวญี่ปุ่นนั้นคือ เมล็ดที่สั้นป้อม ข้าวญี่ปุ่น 100 กรัม นั้นมี 358 แคลอรี 84 ดัชนีน้ำตาล ลักษณะของข้าวในการใช้ประกอบอาหาร เนื้อข้าวเหนียวนุ่ม ข้าวสวยมีลักษณะอุ้มน้ำ รสชาติหวานกว่าข้าวไทย ทำข้าวปั้นได้ง่ายกว่าเนื่องจากมีความเหนียวและอุ้มน้ำมากกว่า
หากตั้งข้อสังเกตแล้วจะเห็นว่าแคลอรี่ของข้าวทั้ง 2 ประเทศให้พลังงานได้พอๆ กัน แต่สาวๆ ญี่ปุ่นนั้นต่างนิยมบริโภคข้าวไทยเพราะค่าดัชนีน้ำตาลของข้าวไทยนั้นน้อยกว่าญี่ปุ่นเกือบเท่าตัวเลยทีเดียว และเป็นสาเหตุที่คนญี่ปุ่นนั้นรู้สึกว่าข้าวไทยนั้นมีรสชาติที่ค่อนข้างจืด แต่ในทางกลับกันนั้น ด้วยความที่อาหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีรสชาติค่อนข้างจืดข้าวของญี่ปุ่นที่ออกหวานจึงเหมาะกับอาหารของบ้านเขา และ อาหารที่จัดจ้านส่วนใหญ่ของประเทศไทยนั้นจึงเหมาะกับข้าวไทยที่ค่อนข้างมีรสชาติจืดกว่าข้าวของญี่ปุ่น แต่ก็มีเรื่องที่คนญี่ปุ่นเองแปลกใจกับอาหารไทยที่ใช้ข้าวอยู่ไม่น้อย นั้นก็คือในเรื่องของอาหารหวาน หรือขนมนั้นเอง ที่ญี่ปุ่นนั้นถึงแม้ขนมหลายๆ อย่างจะถูกทำมากับข้าวแต่ก็ผ่านกระบวนการแปรรูปจนไม่เหลือความเป็นเมล็ดข้าวอยู่แล้ว อย่าง ไดฟุกุ โมจิ ดังโงะ จะเป็นการนำข้าวเหนียวของญี่ปุ่นมาตำจนไม่เหลือความเป็นเมล็ดและนำมาปั่น ส่วนเซมเบ้นั้นก็ใช้แป้งที่ทำมาจากข้าว แต่ในทางกลับกัน ประเทศไทยนั้นเลือกใช้ข้าวเต็มเมล็ดมาทำเป็นขนม เช่น ข้าวตัง ข้าวหลาม ข้าวเหนียวมะม่วง ข้าวต้มมัด ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีการใช้ข้าวในการผลิตสุราพื้นบ้าน รวมถึง ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกายและเส้นผมต่างๆ ที่มีความคล้ายกันอีกด้วย